มหาสารคาม

จังหวัดมหาสารคาม มีพื้นที่ประมาณ 5,300 ตารางกิโลเมตร (3,307,300 ไร่) ระยะทางห่างจากกรุงเทพฯ 475 กิโลเมตร ตั้งอยู่ตอนกลางของภาคอีสาน มีชนหลายเผ่า เช่น ชาวไทยพื้นเมืองพูดภาษาอีสาน ชาวไทยญ้อและชาวผู้ไท ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี “ฮีตสิบสอง” ประกอบอาชีพด้านกสิกรรมเป็นส่วนใหญ่ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย
แนะนำที่เที่ยว
- แก่งเลิงจาน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีทิวทัศน์สวยงาม เหมาะสำหรับเป็นสถานที่พักผ่อนในยามเย็น และเป็นที่ตั้งของสถานีประมงน้ำจืด
- กู่สันตรัตน์ ปราสาทหินที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นศิลปะขอมสมัยบายน อายุระหว่าง พ.ศ. 1700 – 1750 มีทับหลังประตูมุขหน้าจำหลักลวดลายงดงาม
- เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน ป่าธรรมชาติที่มีแหล่งน้ำซับให้ความชุ่มชื้น เป็นแหล่งอาศัยของปูทูลกระหม่อม ปูน้ำจืดสีสวยที่พบที่นี่เพียงแห่งเดียว
- พระธาตุนาดูน บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณนครจำปาศรี สมัยทวารวดี ภายหลังได้มีการขุดพบโบราณวัตถุมากมาย รวมถึงพระพุทธรูปและสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จึงได้ก่อสร้างพระธาตุนาดูนขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบ พร้อมทั้งพัฒนาพื้นที่เพื่อให้เป็นพุทธมณฑลแห่งอีสาน
- พระพุทธมิ่งเมือง ประดิษฐานอยู่ที่วัดสุวรรณาวาสเป็นพระพุทธรูปหินทรายแดงศิลปะทวารวดี สร้างขึ้นตั้งแต่สมัย พ.ศ. 1399
- พระพุทธรูปยืนมงคล พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง เช่นเดียวกับพระพุทธมิ่งเมือง และเชื่อกันว่าสร้างขึ้นพร้อมกันเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์แก่แผ่นดิน
- พิพิธภัณฑ์วัดมหาชัย สถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุของ จ. มหาสารคามและภาคอีสาน เช่น ใบเสมาหิน พระพุทธรูปโบราณ ตู้พระธรรมที่มีบานประตูและคันทวยแกะสลักอายุประมาณ 200 ปี
- วนอุทยานโกสัมพี ภายในเนื้อที่ 125 ไร่ริมแม่น้ำชีร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ เป็นที่อาศัยของลิงฝูงใหญ่
- สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช สถานที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพรรณไม้ของภาคอีสาน มีอุทยานลานไผ่ สวนสมุนไพร พิพิธภัณฑ์โรงเกวียนอีสาน และพิพิธภัณฑ์บ้านอีสาน
- สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน สถานที่เก็บรวมรวมศิลปวัตถุและโบราณวัตถุของภาคอีสานมาจัดแสดงให้ความรู้ เช่น ผ้าพื้นเมือง เครื่องจักสาน เครื่องปั้นดินเผา และของใช้ในชีวิตประจำวัน
- ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมอีสาน จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองมหาสารคาม โดยรวบรวมโบราณวัตถุเก่าแก่ และเครื่องใช้พื้นบ้านมาแสดง
- อุทยานมัจฉาโขงกุดหวาย แอ่งน้ำใหญ่ที่เป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำชี เป็นเขตอภัยทานที่มีปลาอาศัยอยู่มากมาย ในช่วงฤดูแล้ง เมื่อน้ำในแม่น้ำชีลดระดับ ฝั่งตรงข้ามอุทยานฯ จะมีหาดบานเย็นเป็นสถานที่เล่นน้ำ